http://movie.truelife.com/movienewsdetail/view/1742235
อนิจจาบ้านเมืองน่าเวทนา
ผมว่า...ที่น่ากลัว คือการปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะมากกว่า เชคสเปียร์ต้องตายอาจจะเป็นแค่หนังนอกกระแสสักเรื่องในโรงหนังแนวอินดี้หรือ Art House หากมันไม่ถูกห้ามฉาย หากมันได้ฉายเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ มันอาจจะถูกใจคอหนังนอกกระแส อาจจะเป็นหัวข้อพูดคุยกันในกลุ่ม แต่คงจะไม่ใช่กลุ่มใหญ่นัก ตามปกติของหนังนอกกระแส หนังแนวทดลอง แล้วมันก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา มันอาจจะหลงเหลืออยู่ในใจคนที่ชอบบ้าง แต่ก็จะมีคนพูดถึงน้อยลงๆ แล้วก็หันไปดูหนังนอกกระแสเรื่องอื่นต่อไป แต่คนที่สร้างกระแสให้มันกลายเป็นที่รู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมืองคือการที่มันถูกสั่งห้ามฉายนี่แหละครับ ตามธรรมชาติของการปกปิดมิดเม้ม (ทำอย่างกับโหลดเอาตามอินเทอร์เนตหรือหาซื้อกันใต้ดินไม่ได้อย่างนั้นแหละ ผมว่าป่านนี้คงจะมีใครได้ดูเวอร์ชั่นเต็มกันไปแล้วก็เป็นได้)
โดย ภาพ-ยลเรียนให้ทราบจากใจว่าค่อนข้างเศร้าเหลือเกินกับผลการตัดสินของ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยุครัฐบาลภายใต้รัฐนาวาที่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีมติสั่ง "ห้ามฉาย" ภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (Shakespear Must Die) ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนสร้างจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเข้าตรวจพิจารณาปีนี้ ทว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์กลับระบุเหตุผลว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3) จึงชี้ขาดว่าห้ามฉาย
นั่นแปลว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’จึงกลายเป็นภาพยนตร์ "ต้องห้าม" สำหรับประเทศไทยไปโดยทันทีหลังการตัดสินชี้ชัด แปลว่าห้ามมิให้มีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ภายในราชอาณาจักรไทย...
นับเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของบ้านเราที่ได้เรต "ห" หรือ "ห้ามฉาย" (โดยเรื่องแรกคือ Insect in the B ackyard ผลงานการกำกับของกอล์ฟ- ‘ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ )
สำหรับ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ นั้น เป็นผลงานของสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือที่คนในแวดวงนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์-สารคดี และแวดวงของการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม รู้จักกันในนาม "อิ๋ง เค" หญิงแกร่งผู้มีหมวกในชีวิตนับใบไม่ถ้วน เธอผู้ใช้ชีวิตรับใช้ความฝันตัวเอง และผ่านงานหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครของยูเอ็นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อรัญประเทศ นักข่าว นักเขียน นักเคลื่อนไหว ศิลปิน และผู้กำกับหนัง
อิ๋ง เค คนนี้ เป็นอิ๋ง เค คนเดียวกับคนที่เคยสร้างประวัติศาสตร์สะท้านสะเทือนวงการภาพยนตร์มาแล้วด้วยหนังชื่อชวนสะอึกอย่าง "คนกราบหมา" (My Teacher Eats Biscuits) หนัง 16 มิลฯ เนื้อหาตลกร้ายเสียดสีสังคมจนถลอกปอกเปิก เนื้อเรื่องว่าด้วยลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา ไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยหมายใจว่าจะฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 แต่ถูกขัดขวางถูกระงับห้ามฉายในประเทศไทยไปในที่สุด ด้วยเหตุผลว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา "ดูหมิ่นศาสนาพุทธ"ต่อมาในปี พ.ศ.2551 เธอ พร้อมด้วยมานิต ศรีวานิชภูมิ และไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ได้ร่วมกันสร้างภาพยนตร์ "พลเมืองจูหลิง" หรือ CITIZEN JULING ถ่ายทอดชีวิตของครูจูหลิง ปงกันมูล เรื่องราวจากเรื่องจริงของหญิงสาวชาวพุทธจากเชียงราย ครูสอนศิลปะช่างฝัน ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ความรักในแผ่นดินและเพื่อนมนุษย์ นอนจมกองเลือดท่ามกลางของเล่นที่ตกกระจายบนพื้นโรงเรียนอนุบาลประจำหมู่บ้านมุสลิมเล็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คว้ารางวัล “คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 7 ประจำปี 2552" สาขาหนังยอดเยี่ยม ไปครอบครองมาคราวนี้ ชื่อของเธอสร้างแรงกระเพื่อมในหมู่นักสร้างหนังและแวดวงนักดูหนังได้ไม่น้อย กับกรณี ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ผลงานการกำกับชิ้นล่าสุดของเธอร่วมกับมานิต ศรีวาณิชภูมิ โดยผู้กำกับหญิงแกร่งคนนี้ระบุมาตั้งแต่ต้นว่า บทภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากนิยายโศกนาฏกรรม The Tragedy of Macbeth ของ William Shakespeare กวีและนักเขียนนามกระเดื่องโลกาผู้รจนางานเขียนอันเป็นอมตะไว้หลายชิ้น ลักษณะการทำบทภาพยนตร์ แทบจะเป็นการ "ถอดความ" จากภาษาอังกฤษฉบับต้นฉบับมาทั้งดุ้น ด้วยผู้กำกับให้เหตุผลต้องการรักษาอรรถรสทางภาษาแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด โดยการถอดความและเขียนบทนี้ เป็นฝีมือของเธอทั้งสิ้น ซึ่งถ้าพูดในแง่การใช้ภาษาในการถอดความของเธอ โดยดูผ่าน official trailer ที่มีการถอดความจากเนื้อหาท่อนหนึ่งของแมคเบธจากต้นฉบับ ที่ว่า...
Alas, poor country!
Almost afraid to know itself. It cannot
Be called our mother, but our grave, where nothing,
But who knows nothing, is once seen to smile;
Where sighs and groans and shrieks that rend the air
Are made, not marked; where violent sorrow seems
A modern ecstasy. The dead man’s knell
Is there scarce asked for who, and good men’s lives
Expire before the flowers in their caps,
Dying or ere they sicken.
โดยผู้กำกับรายนี้ถอดมาเป็นลักษณะคล้ายบทสำหรับขับเสภา ดังนี้
อนิจจาบ้านเมืองน่าเวทนา
เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง
ไม่บังอาจเรียกว่าแผ่นดินแม่
ที่แท้คือหลุมศพของเรา
ไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้า
ล้วนแต่คนบ้าผู้ไม่รับรู้สิ่งอันใด
ยินแต่เสียงทอดถอนลมหายใจ
ครวญครางเสียงร้องร่ำไห้
อื้ออึงไปทั่วเมือง
ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลก
แม้จะแหลกทุกข์ระทมสุดพรรณนา
กลับละม้ายเป็นเรื่องธรรมดา
แลละม้ายเป็นธรรมดา
เมื่อระฆังประหารกังวานมา
ไม่มีใครถามว่าเป็นเวลาของใคร
คนดีอายุสั้นกว่าดอกไม้แซมผม
คอขาดล้มตาย
ก่อนดอกไม้จะเหี่ยวเฉา
บนหัวของเขาด้วยซ้ำ
(จากThe Tragedy of Macbeth ของ William Shakespeareถอดความและบทภาพยนตร์
Shakespeare Must Die โดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์)แม้จะไม่สละสลวยสลักเสลาเกลาเป็นคำประพันธ์ประเภทร้องกรองที่ถูกฉันทลักษณ์ แต่ก็ถือเป็นการถอดความที่กระแทกใจไม่น้อย...และ ณ บริบทขณะนี้ ภายหลังหนังถูกสั่งห้ามฉาย...โดยส่วนตัว...ผม (โคตร) จะเห็นด้วยกับสองวรรคแรกของเธอจริงๆ...ให้ตายเถิด
โดยส่วนตัว ผมเป็นนักอ่านและนิยมงานของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ หลายเรื่อง และงานของนักเขียนเอกระดับโลกคนนี้ ก็กลายมาเป็นเพชรน้ำเอกแห่งวงวรรณกรรมไทย โดยฝีพระหัตถ์การแปลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเป็นการส่วนพระองค์จนทรงมีพระราชนิพนธ์แปลเอาไว้ให้คนไทยได้มีโอกาสอ่านกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Romeo and Juliet , The Merchant of Venice (เวนิซวาณิช) และ As You like it (ตามใจท่าน) เป็นต้น
ส่วนเรื่องแมคเบธหรือ Tragedy of Macbeth ที่คุณอิ๋ง เค เธอระบุมาแต่แรกว่า เป็นเค้าโครงหลักที่เธอยืมมาดัดแปลงจนกลายเป็น Shakespeare Must Die นั้น ขออนุญาตเล่าเรื่องย่อแบบละเอียดเพื่อให้เห็นภาพก่อนจะชวนวิพากษ์ในย่อหน้าต่อไปนะครับ
ต้นฉบับที่เชคสเปียร์เขียนไว้ เริ่มเรื่องที่ขุนพลผู้เรืองอำนาจที่สุดแห่งสก็ตแลนด์ในแผ่นดินของกษัตริย์ดันแดนที่มีชื่อว่า "แมคเบธ" ผู้ซึ่งเป็นทั้งขุนพลคู่พระหทัยและพระญาติสนิทที่กษัตริย์ดันแคนให้ความเมตตา ตลอดจนยศถาบรรดาศักดิ์และความไว้เนื้อเชื้อใจ ได้เดินทางกลับมาพร้อมชัยชนะจากสนามรบ และกำลังเดินทางกลับสู่นคร พร้อมด้วย "แบงคิโอ้" ขุนพลอีกคนหนึง ระหว่างทางขุนพลทั้งสองได้พบแม่มด 3 ตน ซึ่งแม่มดได้ทำนายว่าแมคเบธ จะได้เป็นกษัตริย์ ในขณะที่แบงคิโอ้ แม้จะไม่ได้เป็นกษัตริย์ แต่ลูกชายของเขาจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เช่นกัน
แบงคิโอ้ผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์ไม่ได้ใส่ใจนำพาคำทำนายดังกล่าว ผิดกับแมคเบธที่ครุ่นคิดเรื่องนี้และสุดท้ายเมื่อกลับมาถึงบ้าน เขาก็ได้เอ่ยปากปรึกษาเรื่องนี้กับภรรยาผู้มักใหญ่ใฝ่สูงของเขา ภรรยาของแมคเบธยุยงให้สามีปลงพระชนม์กษัตริย์ แม้ในระยะแรกแมคเบธจะลังเล แต่ในที่สุดก็ทนแรงยุไม่ไหว ขุนพลเอกผู้ทรยศรายนี้จึงสังหารกษัตริย์ของเขาเยี่ยงคนขลาด คือแอบลอบฆ่าด้วยดาบสั้นอาบยาพิษยามที่กษัตริย์กำลังหลับสนิท และในที่สุดแมคเบธพร้อมภรรยาก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นราชาและราชินีสมใจ เพราะโอรสทั้งสองของกษัตริย์ดันแคนหลบหนีออกนอกประเทศหลังจากที่รู้ว่าพระบิดาถูกลอบฆ่า
แมคเบธนึกถึงคำทำนายว่าลูกชายของแบงคิโอ้จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จึงนึกหวั่นใจและอยากตัดไฟเสียแต่ต้นลม เขาส่งคนไปฆ่าระหว่างที่ออกอุบายเรียกขุนนางและอำมาตย์ผู้ใหญ่มากินเลี้ยงกันในพระราชวัง แบงคิโอ้และเฟรียนส์ บุตรชายของแบงคิโอ้ แบงคิโอ้ถูกฆ่าตายแต่เฟรียนส์หนีรอดไปได้ วิญญาณของแบงคิโอ้จึงสำแดงฤทธิ์สุดหลอนด้วยการพาซากอันโชกเลือดไปเฝ้าพระราชาทรราชย์ของเขาบนโต๊ะพระราชทานเลี้ยง ไม่มีใครเห็นนอกจากแมคเบธซึ่งเกิดความกลัวเป็นอย่างมากแมคเบธกังวลที่เฟรียนส์ไม่ตายและเกรงว่าจะถูกแก้แค้นรวมถึงถูกแย่งชิงบัลลังก์ เขาเดินทางกลับไปหาแม่มด 3 ตนนั้นอีกครั้ง และได้รับการทำนายจากการทำพิธีของแม่มา ทำให้เห็นดวงวิญญาณ 3 ดวงที่มอบ 3 คำทำนายให้เขาว่า ให้ระวัง "แมกดัฟแห่งไฟเฟ" , "ไม่มีใครที่ถือกำเนิดมาด้วยวิธีธรรมชาติจะทำร้ายแมคเบธได้" และ "จะไม่มีใครโจมตีแมคเบธได้จนกว่าป่าเบอร์นัมจะย้ายมาสู่ภูเขาดังซิแนน" แมคเบธกลับไปพร้อมความกระหยิ่มยิ้มย่อง สมองคิดกำจัดแมกดัฟแห่งไฟเฟให้สิ้นซากเสี้ยนหนาม พลางคิดว่าเพียงเท่านี้ก็จะไม่มีใครมาทำอันตรายเขาได้แต่ในที่สุดแมคเบธก็ถูกโจมตีด้วยยุทธวิธีการตัดต้นไม้จากป่าเบอร์นัมมาเป็นกำบังพรางตัวจากทหารฝ่ายตรงข้ามซึ่งนำโดยโอรสของกษัตริย์ดันแดนและจากดินแดนใกล้เคียงที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองโดยทรราชย์เยี่ยงแมคเบธ กองทัพนี้ใช้เส้นทางจากป่าเบอร์นัมผ่านภูเขาดังซิแนน ตามคำทำนายของแม่มด และสุดท้าย เขาก็ถูกสังหารโดยแมกดัฟแห่งไฟเฟ ผู้ที่บอกกับเขาก่อนจะลงดาบสังหารว่า ที่แท้ แมกดัฟถือกำเนิดจากท้องแม่โดยวิธีการ "ผ่าตัด" ซึ่งเป็นวิธีผิดธรรมชาติ โศกนาฎกรรมบทนี้ปิดฉากลงด้วยการขึ้นครองบัลลังก์ของเฟรียนส์ บุตรชายของแบงคิโอ้ ตรงตามคำทำนายทุกประการ
เอาล่ะ...ทีนี้จากแมคเบธ กลับมาสู่เชคสเปียร์ต้องตายกันอีกครั้ง จากที่ติดตามอ่านข่าวและบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ทราบว่าเรื่องนี้นำเค้าโครงเรื่องและบทส่วนใหญ่มาจากแมคเบธ แต่มีการดัดแปลงบริบทแวดล้อมด้วยการนำเรื่องราวความเคลื่อนไหวของประเทศสมมติ "วางทาบ" ลงไปบนเนื้อเรื่องเดิม เท่าที่ได้มีโอกาสดูจาก official trailer มีการกล่าวถึงเรื่องราวทางการเมือง มีภาพการชูป้านประท้วง มีการรายงานข่าวของผู้ประกาศข่าวกลางสนามข่าวในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มีการฉายภาพการแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเสมือนหนึ่งหนังได้ "ฉายภาพ" เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ตั้งเหตุการณ์หกตุลาและเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสีอย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกัน (แต่ก็มีภาพยนตร์บางเรื่องก็นำภาพความขัดแย้งทางการเมืองไปใส่ไว้ในเรื่อง ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร)ภาพตัดสลับภาพในราชวังที่มีขุนพลใหญ่ ไสยศาสตร์ ความละโมภ กษัตริย์ผู้ไว้เนื้อเชื่อใจ การลอบสังหารกษัตริย์ และการตามหลอกหลอนของวิญญาณผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหาร
ทั้งพรอพและทั้งคอสตูม และอีกหลายๆ บอกชัดเจนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น "หนังทุนต่ำ" ที่เต็มไปด้วยสีและสัญลักษณ์มากมาย ทว่าเพียงดู official trailer ก็มิอาจจะปฏิเสธได้เช่นกันว่า หนังมีความ "คม" ของนัยยะอย่างสูงยิ่ง...อดคิดไม่ได้ว่า "คมกริบ" จนถึงขั้น "บาดจิตบาดใจ" จนกลายเป็นที่มีของการ "แบน" หลังให้ "ตายตกไปตามกัน" คือตายตกไปตามความฝันความหวังของผู้กำกับและทีมงานนั่นเองแบนหนังธรรมดายังพอทน แต่นี่เล่นแบนหลังที่ได้ทุนรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยทุนดังกล่าวมาจากภาษีประชาชนอดมื้อกินมื้อหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเรา รัฐบาลหนึ่งให้เงิน ทำเสร็จอีกรัฐบาลห้ามฉาย...งานนี้คนจ่ายภาษีคงจะต้องตะโกนด่ากันในใจว่า "เฮ้ย พวกคุณเล่นอะไรกันอยู่" ยังกังขาอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ว่า ถ้าห้ามฉายตั้งแต่แรกจะให้ทุนไปทำ...ซาก...อะไรไม่ทราบ แล้วอะไรเข้าสิงให้สั่งห้ามฉายอีกก็ไม่ทราบ...ให้ทุนไปสร้าง ทว่ามติสั่งห้ามฉาย...แล้วทุนที่ให้ไป ใครรับผิดชอบ ก็ในเมื่ออ้างได้ว่าเป็นหนังทุนรัฐบาล แล้วใยรัฐบาลสั่งห้ามฉาย
โอ๊ย ไทยแลนด์โอนลี่!
เท่านี้ยังไม่พอ
ผู้กำกับเองก็คงกังขา มีคนสัมภาษณ์หลายหน เธอก็ย้ำตอบหลายหนเหมือนกันว่า ตอนได้รับทุนก็มีการทำหนังตัวอย่าง มีการส่งเรื่องย่อ ทางคณะกรรมการให้ทุนก็รับทราบ ยอมรับ จนถึงขั้นอนุมัติให้เงินทุนสร้างแบบนี้ ปลายทางสุดท้าย มันถึงกลายเป็นความ "ช็อค" อย่างเลี่ยงไม่ได้ของผู้กำกับ...ก็ใครจะไปนึกว่าถึงขนาดนี้ยังสั่งห้ามฉาย
แต่ที่เศร้ายิ่งไปอีกคือ โดยส่วนตัวผม...เอาง่ายๆ ผมไม่คิดว่าผมจะเป็นเกย์ถ้าผมเดินเข้าไปดูหนังเกย์สักเรื่องในโรงหนัง เวลาสามชั่วโมงที่ไปดูหนังไม่ทำให้ผู้ชายเป็นเกย์ได้ เหมือนกับถ้าผู้หญิงแท้ๆ สักคนไปดูหนังเลสเบี้ยนแล้วจะเดินออกจากโรงแล้วจะกระโดดจูบผู้หญิงด้วยกันไหม? หรือหนังแอคชั่นยิงกันเลือดสาดที่เกลื่อนตลาดหนังอยู่ทุกวันนี้ ไปดูแล้ว (ถ้าคุณสติดีและไม่ได้เป็นโรคจิต) คุณจะไปหาซื้อปืนมายิงกราดใส่ใครไหม
ประเด็นของเชคสเปียร์ต้องตายยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ถ้าพูดในแง่ประวัติศาสตร์ ต่อให้มันเป็นประเทศสมมติ ผู้นำในประเทศอยู่เบื้องหลังธงที่เป็นธงสมมติ แต่ก็รู้กันอยู่ครับ ว่ามันเป็นภาพอดีตของสังคมไทย เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เราหวนกลับไปแก้มันไม่ได้ และทำอะไรไม่ได้เลยกับมันนอกจาก "เรียนรู้"
ครับ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มีไว้เรียนรู้ อะไรดีก็เรียนรู้ที่จะรักษาไว้หรือทำมันซ้ำ อะไรไม่ดีก็เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงและแก้ไข
ประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีตเป็นสิ่งที่คุณค่าหากคนบ้านเรามีวิธีการเรียนรู้มันที่ดีและเรียนรู้เป็น เด็กและเยาวชนของเราควรได้รับคำแนะนำถึงวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปิดหูปิดตามห้ามไม่ให้ดู
ผมเชื่อว่าศิลปะทุกแขนง การวาด การเขียน การปั้น การสลัก การร่ายกวี ดนตรี รวมถึงศิลปะแขนงที่เจ็ดอย่างภาพยนตร์นั้น นอกจากจะช่วยชุบชูใจ ช่วยให้ความบันเทิง และเป็นการรังสรรค์สิ่งงามให้เกิดขึ้นแล้ว มันยังมีส่วนช่วยบันทึกภาพและฉายภาพสังคมในรูปแบบหนึ่ง และที่บรรดาผู้ใหญ่ในคณะกรรมการฯ ตลอดจนผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองที่กังวลใจว่า การฉายหนังสักเรื่องจะทำให้คนเกิดความแตกแยกในแผ่นดิน จะทำให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ...อย่าไปกลัวเลยครับ ศิลปะทุกแขนงมีพลังในตัวของมันเองครับ พลังของมันไม่ใช่พลังที่ก้าวร้าวจนทำให้เกิดอะไรต่างๆ อย่างที่คุณกำลังกลัวหรอกครับ มันอาจจะมี Impact ต่อแนวคิดบ้าง แต่เชื่อเถิดว่าไม่มีใครที่จะบ้าดูหนังทุนต่ำที่ว่าด้วยการเมืองในอดีตสักเรื่องแล้วจะลุกขึ้นมาถือป้ายประท้วงรัฐบาลต่อเรื่องราวที่เป็นอดีตหรือเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วหรอกครับ (ขนาดด่ากันโจ้งๆ มีกิจกรรมการเมืองจะแจ้งในชีวิตจริงกันถึงขนาดที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่เห็นถูกคณะกรรมการไหนสั่งเซ็นเซอร์กันบ้างเลยครับ ข่าวออกกันทุกวัน ภาพจริง ภาพปัจจุบันด้วย แหม...เขียนแบบนี้ ท่านจะไปสั่งเซ็นเซอร์ข่าวไหมละเนี่ย)
ผมขอยกบทสัมภาษณ์ซักช่วงหนึ่งที่คุณอิ๋งเคเธอพูดถึงศิลปะในแง่มุมของเธอนะครับ
"ต้องเข้าใจว่าเวลาศิลปินสร้างงานอะไรก็ตาม... บางคนอาจคิดว่าเราสร้างงานเพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ ที่จริงงานศิลปะมันงอกขึ้นเหมือนต้นไม้ ไม่ใช่เอามาสวม มันเกิดขึ้นจากแผ่นดินเราจริงๆ จากปุ๋ยจากดินนี้จริงๆ ออร์แกนิคจริงๆ มันถูกเชฟด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ มัน ไม่ใช่เราไปบิดตัวเราให้เหมือนกับสถานการณ์นั้น แต่สถานการณ์ต่างๆ มาบิดเราให้เหมือนมัน เราต้องมองให้ชัด"
ผมว่า...ที่น่ากลัว คือการปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะมากกว่า เชคสเปียร์ต้องตายอาจจะเป็นแค่หนังนอกกระแสสักเรื่องในโรงหนังแนวอินดี้หรือ Art House หากมันไม่ถูกห้ามฉาย หากมันได้ฉายเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ มันอาจจะถูกใจคอหนังนอกกระแส อาจจะเป็นหัวข้อพูดคุยกันในกลุ่ม แต่คงจะไม่ใช่กลุ่มใหญ่นัก ตามปกติของหนังนอกกระแส หนังแนวทดลอง แล้วมันก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลา มันอาจจะหลงเหลืออยู่ในใจคนที่ชอบบ้าง แต่ก็จะมีคนพูดถึงน้อยลงๆ แล้วก็หันไปดูหนังนอกกระแสเรื่องอื่นต่อไป แต่คนที่สร้างกระแสให้มันกลายเป็นที่รู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมืองคือการที่มันถูกสั่งห้ามฉายนี่แหละครับ ตามธรรมชาติของการปกปิดมิดเม้ม (ทำอย่างกับโหลดเอาตามอินเทอร์เนตหรือหาซื้อกันใต้ดินไม่ได้อย่างนั้นแหละ ผมว่าป่านนี้คงจะมีใครได้ดูเวอร์ชั่นเต็มกันไปแล้วก็เป็นได้)
ฟันธงว่าการห้ามฉายนี่แหละจะทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของหนังเรื่องนี้ ไปขวนขวายหาทางที่จะดูจนได้ เชื่อผมเหอะ!
ตีลังกาสามสิบแปดตลบก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ว่าทำไมคณะกรรมการโดยกระทรวงฯ และโดยรัฐบาลจึง "ดูเบา" ว่าคนไทยไร้สมองนักหนา จะถูกกล่อมง่ายๆ ด้วยหนังความยาวเพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วถ้าคิดเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ทำไมไม่อธิบายถึงความไม่เหมาะสมนั้นแล้วสร้างการเรียนรู้ให้เกิดองค์ความรู้... ไม่เข้าใจจริงๆ
หรืออาจจะเกรงกระแสจะกระทบกับใคร...งานนี้คุณอิ๋งเคเธอให้แง่มุมไว้เด็ดดวงมากครับ เธอบอกว่า...
"เรื่องนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความบ้าอำนาจ คือเชคสเปียร์เขาวิเคราะห์มนุษย์ แล้วยังทันสมัยอยู่เสมอ คนทุกสมัยฟังแล้วเข้าใจ อย่างแมคเบธ มักใหญ่ใฝ่สูง ทะยานฟ้า บ้าอำนาจ แล้วก็เป็นบ้าไปทั้งผัวทั้งเมีย บ้าไสยศาสตร์ คนก็บอกว่าอันนี้คุณทำล้อ...ใช่มั้ย เราบอกเรื่องแมคเบธเนี่ยถ้าคุณเอาไปให้คนเขมรดู เขาก็นึกถึงฮุนเซน คุณเอาไปให้คนพม่าดู เขาก็นึกถึงตานฉ่วย ถ้าคุณเอาไปให้คนลิเบียดู เขาก็จะบอกว่ากัดดาฟี มันเป็นคลาสสิคยี่ห้อของคนแบบนี้ แล้วมันก็จะบ้าไสยศาสตร์แทบทุกคน"
จงยอมรับในใจอย่างไม่ดัดจริตเถิด...ว่าเธอพูดจริง!
และในฐานะนักอักษรศาสตร์ รู้สึกอับอายขายหน้าประชาชีบนโลกนี้เป็นบ้า ที่ประเทศของข้าพเจ้าเป็นประเทศที่ประกาศชัดเจนว่าแบนภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเค้าโครงจากงานของ "เชคสเปียร์" นักเขียนอมตะที่คนทั้งโลกยอมรับ ในประเทศที่เจริญแล้วใช้เป็นแบบเรียนตั้งแต่ชั้นประถมยันชั้นมหาวิทยาลัย
งานนี้ สงสัยนักเขียนที่ว่าอมตะอย่างเชคเสปียร์ จะสิ้นฤทธิ์ความอมตะและทอดกายตายอยู่บนผืนแผ่นดินไทยเสียแล้วล่ะครับ
... Alas, poor country! Almost afraid to know itself. It cannot
...อนิจจาบ้านเมืองน่าเวทนา เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง!